วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มุมเมอแรงแห่งชีวิต

นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ 294 :: กรกฎาคม ๕๒ ปีที่ ๒๕คอลัมน์รับอรุณ : บูมเมอแรงแห่งชีวิตพระไพศาล วิสาโล

เมื่อเราเหวี่ยงบูมเมอแรงออกไป สักพักมันก็จะย้อนกลับมาหาเรา ใช่หรือไม่ว่าการกระทำของเราก็เช่นกัน เราทำอะไรกับสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นย่อมส่งผลกลับมาที่เรา แม้จะไม่รวดเร็วหรือชัดเจนเหมือนบูมเมอแรงก็ตาม เมื่อเราจัดดอกไม้ให้งดงาม ดอกไม้นั้นก็กลับมาจัดใจเราให้งดงามตามไปด้วย เวลาเราจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ดูแลบ้านให้สะอาด ใจเราก็พลอยเป็นระเบียบและสะอาดไปด้วย แต่ถ้าเราทิ้งของระเกะระกะ ปล่อยให้บ้านรกสกปรก บ้านนั้นก็ปรุงแต่งใจเราให้รกรุงรังไปด้วย
สิ่งของที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น มิได้เป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว หากยังกระทำต่อเราด้วย คนที่ให้คุณค่าสูงส่งแก่เพชรนิลจินดา ย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือสถานะสูงส่งขึ้นยามได้สวมสร้อยเพชร แต่บางครั้งก็ถึงกับนอนไม่หลับหากมีเพชรเม็ดงามอยู่ใต้เตียง ต้นไม้ในสวน ทีแรกเราเป็นฝ่ายดูแลรักษามัน แต่เมื่อเติบใหญ่ มันกลับดูแลรักษาเรา เช่น ให้ร่มเงา ให้อาหาร เป็นสวัสดิการในยามแก่ หรือปกป้องร่างของเราในยามสิ้นลม ดังชาวต้งในประเทศจีนซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ประจำตัว(ที่ปลูกตั้งแต่แรกเกิด)ไปจนตลอดชีวิต และเมื่อสิ้นลมต้นไม้ต้นนั้นจะถูกโค่นเพื่อทำเป็นโลงบรรจุร่างของเขา
ของชิ้นใดก็ตามหากเรายึดว่าเป็น “ของเรา”เมื่อใด มันก็จะมีอิทธิพลต่อเราทันที จนเรากลายเป็น “ของมัน”ไปเลยก็มี เช่น ยอมตายเพื่อรักษามันเอาไว้ ถ้ามันเกิดมีอันเป็นไป เสียหาย เสื่อมทรุด หรือสูญไป เราก็อาจล้มทรุดไปด้วย หรือถึงกับหมดสติไปเลยก็ได้
มิใช่แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เท่านั้น แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมก็เช่นกัน ทีแรกเราปรุงแต่งมัน ต่อมามันกลับเป็นฝ่ายปรุงแต่งเรา จนถึงขั้นเป็นนายเรา ความคิดทั้งหลายที่เราก่อรูปขึ้นมาในหัว มันสามารถทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะใจถูกมันสั่งให้คิด ๆ ๆ ต่อไปไม่ยอมหยุดบางครั้งมันก็ชักนำหรือบงการให้เราทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็ได้หากเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น แม้คนนั้นจะเป็นพ่อแม่ ลูกหลานหรือคนรักก็ตาม ถ้ายึดมั่นถือมั่นกับความคิดใดมาก ๆ มันจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางไม่ให้เราเห็นหรือยอมรับความจริงที่สวนทางกับความคิดนั้น มันจะสั่งให้เราบอกปัดความจริงนั้นและจมอยู่ในความคิดนั้นต่อไป แต่ถ้าปรุงแต่งและหลงจมอยู่กับความคิดว่าฉันเป็นคนไร้ค่าเมื่อใด ความคิดนั้นก็สามารถบัญชาให้เราทำร้ายตัวเองได้เมื่อนั้น ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้เรากำลังกลายเป็นทาสของความคิดที่ตัวเองสร้างขึ้นมาทั้งนั้น
สิ่งของฉันใด คนก็ฉันนั้น ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับใคร คนนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อเราเสมอไม่มากก็น้อย แม้แต่ผู้นำที่มีอำนาจก็หนีความจริงไม่พ้นว่า ลูกน้องไม่ได้อยู่ในอิทธิพลของเขาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อเขาด้วย อย่างน้อยเขามีอำนาจได้ก็เพราะการยอมรับของลูกน้อง ถ้าลูกน้องไม่ยอมรับหรือไม่ให้ความร่วมมือเขาก็ทำอะไรไม่ได้ หรือถึงกับต้องลงจากอำนาจไป
มองให้ลึกลงไป สิ่งของหรือผู้คนจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือวิธีการที่เราเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น คนที่กระทำกับผู้อื่นด้วยความรักหรือความเคารพ ย่อมได้รับความรักหรือความเคารพกลับคืนมา อาสาสมัครหลายคนที่ไปช่วยดูแลเด็กเล็กในสถานสงเคราะห์ พบว่าตนเองมีความสุขอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจไปให้ความสุขแก่เด็ก แต่กลับได้รับความสุขจากเด็กคืนมาอย่างไม่คาดฝัน บางคนรู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่ามากขึ้น เพราะความรักที่ได้กลับคืนมาจากเด็ก ชายหนุ่มบางคนถึงกับยอมรับว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์ขึ้นเพราะเด็ก ๗ ขวบ”
ให้ความรักก็ย่อมได้รับความรัก ให้ความสุขก็ย่อมได้รับความสุข แต่ถ้าคิดจะเอาความรักหรือตักตวงความสุข กลับไม่ได้ หรือได้ความเกลียดชังและความทุกข์มาแทน ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มจากความเห็นแก่ได้ ก็ย่อมกระทำหรือแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว อีกฝ่ายจึงตอบโต้ด้วยความเห็นแก่ตัวกลับมา ถ้าหวังตักตวงความสุขจากเขา เขาก็คิดตักตวงความสุขจากเราเช่นกัน ยิ่งแสดงออกด้วยความโกรธเกลียดแล้ว ก็แน่นอนเลยว่าย่อมได้รับความโกรธเกลียดกลับมา จะพูดว่าความโกรธเกลียดที่เหวี่ยงใส่เขา ย้อนกลับมาหาเราก็คงไม่ผิดนัก
ทำอย่างไรย่อมได้ผลอย่างนั้น แต่ผลที่ย้อนกลับมาหาเรานั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ หากเกิดจากการกระทำของเราเอง คนที่ชอบใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ความรุนแรงนั้นเองจะย้อนกลับมาปรุงแต่งจิตใจของเขาให้เป็นคนก้าวร้าว โหดเหี้ยม หรือหยาบกระด้าง หรือทำให้จิตใจมีความดำมืดมากขึ้น จนสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้ง่าย ตำรวจที่ชอบใช้วิธีการเหล่านั้นกับโจร ในที่สุดก็จะมีจิตใจใกล้เคียงกับโจรเหล่านั้น แม้แต่คนดีที่พร้อมใช้วิธีการฉ้อฉลสกปรกกับคนชั่ว หากทำเช่นนั้นบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นคนชั่วไปโดยไม่รู้ตัว มีผู้หนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “เมื่อคุณสู้กับอสูร พึงระวัง อย่าให้ตัวเองกลายเป็นอสูรไปด้วย”
คนที่ยึดมั่นในความถูกต้องหรือผู้ที่ถือตัวว่าเป็นฝ่ายธรรมะ มักตกอยู่ในกับดักดังกล่าว เพราะเมื่อเห็นคนชั่ว ย่อมอยู่เฉยไม่ได้ ด้วยถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดการกับคนชั่วเหล่านั้น ยิ่งมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีก็ยิ่งรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะจัดการกับคนเหล่านั้นด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องหรือปกป้องธรรมะ เนื่องจากมีความโกรธเกลียดที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงพร้อมจะใช้วิธีที่ดุดัน ก้าวร้าว และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มต้นจาก ประณามด่าว่า โกหก หลอกลวงใส่ร้าย หลอกลวง ไปจนถึงลงมือฆ่า ดังกรณีบินลาเดนกับพวก หรือกลุ่มคริสตียนหัวรุนแรง การณ์จึงกลายเป็นว่ายิ่งพยายามปกป้องธรรมะมากเท่าไร ก็ยิ่งทำผิดศีลธรรมมากเท่านั้น ในเมืองไทยแนวโน้มเช่นนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ครูที่เจ้าระเบียบหรือเคร่งศีลธรรม หากเอาแต่บ่นว่าหรือดุด่าลูกศิษย์ที่เกเร แม้จะยังไม่ถูกลูกศิษย์แผลงฤทธิ์หรือตอบโต้เอาคืน แต่การดุด่าว่ากล่าวเป็นอาจิณนั้นก็จะย้อนกลับมาหล่อหลอมจิตใจของครูให้เป็นคนหงุดหงิดเจ้าอารมณ์ รวมทั้งทำให้มีบุคลิกเคร่งเครียด หรือถึงกับหน้างอไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าชอบจับผิดนักเรียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีนิสัยระแวง มองคนในแง่ลบ ไม่ใช่กับลูกศิษย์เท่านั้น แต่กับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวด้วย
ที่จริงแม้ยังไม่ได้แสดงออกกับใครเลย เพียงแค่นึกคิดหรือรู้สึกต่อใครบางคนอยู่ในใจ ความรู้สึกนึกคิดนั้นก็ย้อนกลับมาส่งผลต่อเรา เช่น ถ้าโกรธเกลียดใคร แล้วปล่อยให้ความโกรธเกลียดนั้นดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ ความโกรธเกลียดนั้นก็กลับมาบีบคั้นบั่นทอนจิตใจ ทำให้เครียดหนักขึ้น นานเข้าก็กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือความพยาบาทเจ้าคิดเจ้าแค้นจะถูกปลุกให้กำเริบจนครอบงำใจ ผลก็คือตนพร้อมจะทำสิ่งที่เลวร้ายได้เสมอ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผลต่อสุขภาพและวิถีชีวิต เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายเจ็บป่วยด้วยสารพัดโรคซึ่งบางครั้งหาสาเหตุทางกายไม่พบ
เมื่อเราโกรธเกลียดใครสักคน อยากให้เขามีอันเป็นไป คนแรกที่เดือดร้อนทันทีคือเรา ไม่ใช่ใครที่ไหน ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตาต่อผู้คน อยากให้เขามีความสุข แม้ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ความสุขก็เกิดขึ้นแล้วกับเราเป็นคนแรก เพราะเมตตานั้นย่อมนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจ และทำให้ความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็กลง ไม่เพียงเท่านั้น หากเราลงมือทำเพื่อช่วยให้เขามีความสุข การกระทำอันกอปรด้วยเมตตานั้นจะช่วยลดความเห็นแก่ตัวในใจเรา ขณะเดียวกันก็ปลุกพลังฝ่ายบวกให้มีกำลังมากขึ้น ได้เห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง ยิ่งเห็นเขามีความสุข ความสุขนั้นก็ย้อนกลับมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้น รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม
หากทำด้วยใจอันเป็นกุศลหรือทำด้วยความรู้สึกที่เป็นบวก แม้จะกระทำกับสิ่งของที่ไร้จิตวิญญาณ ความรู้สึกและการกระทำอันเป็นกุศลนั้นก็ยังส่งผลย้อนกลับมาที่ผู้กระทำอยู่ดี ชายชราผู้หนึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยแยกขยะ และทำให้ขยะนั้นกลับมามีคุณค่าขึ้นใหม่ (เช่น เอาไปรีไซเคิลหรือขายต่อ) หลังจากทำมาได้ไม่กี่เดือน เขาพบว่าเขาได้กลายเป็น “ขยะคืนชีพ” จากเดิมที่รู้สึกว่าตนไร้ค่า ได้แต่อยู่รอวันตาย กลับกลายเป็นคนที่มีชีวิตชีวาและรู้สึกเป็นบวกกับตนเองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่เขาพากเพียรทำให้ขยะในมือกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า มันได้ช่วยให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนจาก “ขยะ”ในความรู้สึกของเขากลายมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าภูมิใจ
ไม่ว่าเราจะทำหรือรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่เคยสูญเปล่า มันไม่เพียงส่งผลต่อผู้อื่นหรือสิ่งภายนอกเท่านั้น หากยังส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเองด้วยในลักษณาการที่สอดคล้องกัน ไม่ช้าก็เร็ว นี้คือกฎธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า“กฎแห่งกรรม” เมื่อเราโกรธเกลียดหรือทำร้ายใครสักคน ไม่ต้องรอปีหน้าหรือชาติหน้า มันได้ส่งผลร้ายต่อตัวเราแล้วอย่างน้อยก็ในจิตใจ ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตากรุณาและช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ผลดีก็เกิดขึ้นแล้วกับเราทันที โดยไม่ต้องรอให้เขามาตอบแทนบุญคุณของเรา
อยากให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอะไรดีกว่าการคิดดี พูดดี และทำดี ความดีที่ทำนั้นไม่ช้าก็เร็วย่อมย้อนกลับมาหาเราในที่สุด

ยิ้มได้แม้พ่ายแพ้

นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๒๙๕ :: กันยายน ๕๒ ปีที่ ๒๕ คอลัมน์ริมธาร : ยิ้มได้แม้พ่ายแพ้ รินใจ
“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” หรือวัฒนา ภู่โอบอ้อม เป็นนักสนุกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยวัยเพียง ๑๒ ปีก็สามารถเอาชนะสตีฟ เดวิด ซึ่งเป็นแชมป์โลกในเวลานั้นได้ ต๋องได้เป็นแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลกตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี และเมื่อเล่นเป็นอาชีพ ก็ไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนได้รับการขนานนามว่า “ไทย ทอร์นาโด” ด้วยลีลาการเล่นที่รวดเร็วและแม่นยำ ในเวลาไม่กี่ปีเขา ได้แชมป์การแข่งขันระดับโลก ๓ รายการ เขาทะยานขึ้นสู่อันดับ ๓ ของโลกก่อนถึงวัยเบญจเพสนับเป็นนักสนุกเกอร์คนที่ ๘ ของโลกที่สามารถทำเงินรางวัลได้มากกว่า ๑ ล้านปอนด์
แต่หลังจากนั้นแค่ ๓ ปีฝีมือของเขาก็ถดถอยลงอย่างผิดรูป ทำให้ตกอันดับอย่างรวดเร็วจนหลุดแม้กระทั่งอันดับที่ ๖๔ ของโลก ชื่อเสียงของเขาค่อย ๆ เลือนหายไปจากวงการสนุกเกอร์ของเมืองไทย จากคนที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนเทพเจ้าแห่งวงการสนุกเกอร์ไทยที่แม้แต่หลับตาก็ยังแทงลง ต๋องกลับถูกมองว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ที่ไม่มีใครอยากเชียร์อีกแล้ว
ชีวิตของเขาดูไม่ต่างจากนักกีฬาฝีมือดีของไทยหลายคนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งและโด่งดังถึงขีดสุด แต่แล้วก็พุ่งดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วจนหายไปจากความทรงจำของผู้คน จะปรากฏเป็นข่าวอีกทีก็เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น เช่น ประสบอุบัติเหตุ ล้มป่วย หย่ากับภรรยา หรือถูกตำรวจจับกุม ฯลฯ
การปีนไต่ให้ถึงความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยาก ใคร ๆ ก็รู้ แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือการรักษาความสำเร็จเอาไว้ให้ได้ ข้อนี้ก็มีคนเตือนเอาไว้แล้ว แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรยากเท่ากับการลงจากความสำเร็จได้โดยไม่เจ็บปวด นี้ใช่ไหมที่เป็นบทเรียนสำคัญจากชีวิตจริงของนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์และคนดังอีกมากมายที่ผ่านมาให้เราเห็นคนแล้วคนเล่า
ต๋องเป็นคนหนึ่งที่พบว่าเมื่อพลัดตกจากความสำเร็จแล้ว สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ก็ตามมาอีกมากมาย เงินยืมถูกเพื่อนโกงนับสิบล้าน ธุรกิจที่ลงทุนเอาไว้ล้มระเนนระนาด เสียเพื่อนไปมากมาย ฯลฯ แต่เขาต่างจากอีกหลายคนตรงที่ สามารถทำใจยอมรับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ การบวชและปฏิบัติธรรมหลังจากถอนตัวจากวงการสนุกเกอร์ ทำให้เขาตระหนักว่า “ทุกอย่างมันไม่แน่นอน....คุณอาจจะรวยเป็นพันล้านวันนี้ แต่พรุ่งนี้คุณอาจจะตายก็ได้” เขามาได้คิดอีกว่าเงินนับร้อยล้านที่เคยมีนั้น เขาไม่เคยเห็นเป็นเงินสดเลย เพราะเป็นแค่ตัวเลขในสมุดบัญชี มันก็แค่ให้ความสุขทางใจในยามที่ได้เห็นตัวเลขเท่านั้น ดูเหมือนเขาจะบอกกับเราว่าเงินนับสิบล้านที่ถูกโกงไปนั้นเป็นแค่ตัวเลขในบัญชีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตจริง ๆ ของเขาเลย
เป็นเพราะตระหนักชัดถึงความไม่แน่นอนของโลก เขาจึงยอมรับความพ่ายแพ้ในฐานะนักสนุกเกอร์ได้ ไม่หวนหาอาลัยความสำเร็จอันหอมหวานในวันวานได้ เมื่อได้ไตร่ตรองชีวิตหลังบวชเรียน เขาพบว่ากีฬาสอนหลายอย่างให้แก่เขา นั่นคือ รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้จักอภัย ความพ่ายแพ้จึงมิใช่สิ่งเลวร้ายสำหรับเขาอีกต่อไป ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นแค่ความพ่ายแพ้ในเกมกีฬาหรือความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ความล้มเหลวของชีวิต แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือเขามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่มีแง่ดีอยู่ไม่น้อย “(สนุกเกอร์)สร้างเรามาได้ มันก็ทำให้เราลงได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปติดยึดอะไรมากนัก มองให้มันธรรมดา นี่แหละชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง ทุกอย่างมันไม่เที่ยง เมื่อก่อนเคยแทงกี่ลูกก็ลง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ลง อ้าว ก็อายุมึงมากแล้วนี่ ก็เป็นธรรมดา จะไปออกคิวเหมือนเดิมได้ไง ถ้าทำได้ แล้วเด็กรุ่นใหม่มันจะไปรุ่งได้ไง ถ้ามึงยังอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้”
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา แย่แค่ไหน ก็ยังมีข้อดีอยู่เสมอ สำหรับต๋อง ความพ่ายแพ้ของเขาหมายถึงชัยชนะของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าตลอดไปหรอก มันก็ต้องมีคลื่นลูกใหม่ ไล่คลื่นลูกเก่า ไม่อย่างนั้นโลกเราจะเจริญเหรอ ถูกไหมครับ” คนที่คิดอย่างนี้ได้ย่อมไม่ใช่คนที่คิดถึงแต่ตัวเอง หากยังคิดถึงแต่คนอื่นหรือส่วนรวมด้วย เป็นเพราะคิดอย่างนี้ได้ จึงสามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าตัวเองจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ตรงกันข้ามคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ย่อมเป็นทุกข์ทุกขณะที่เล่นกีฬา ต่อเมื่อเล่นจบแล้วได้ชัยชนะถึงจะมีความสุข แต่ก็สุขชั่วคราว เพราะเมื่อถึงคราวที่จะต้องลงแข่งใหม่ จิตใจก็หวั่นไหวเพราะกลัวความพ่ายแพ้
จะว่าไปแล้วมุมมองของต๋องยังสามารถนำไปใช้กับการทำงานเพื่อให้มีความสุขได้ด้วย ทุกวันนี้ผู้คนเคร่งเครียดกับการทำงานเพราะกลัวล้มเหลว ยิ่งคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ยิ่งทำใจยอมรับความล้มเหลวไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่ความล้มเหลวเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าประสบความสำเร็จมามากแค่ไหน ไม่ช้าก็เร็วความล้มเหลวก็ต้องมาเยือนจนได้ การเพียรพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการรู้จักทำใจเพื่อรับมือกับความล้มเหลวที่จะมาถึง
การทำใจมิได้หมายความแค่ยอมรับความจริงเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังรู้จักหาประโยชน์จากความล้มเหลวหรือมองเห็นแง่ดีของความล้มเหลว สำหรับต๋อง ความพ่ายแพ้ทำให้เขาตระหนักชัดถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ซึ่งรวมถึงโลกธรรม อาทิ ลาภ ยศ สรรเสริญ หากยังเป็นแชมป์ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ เขาก็อาจหลงในโลกธรรมเหล่านี้อีกต่อไป ความพ่ายแพ้ยังสอนให้เขารู้จักชื่นชมยินดีในความสำเร็จของคู่ต่อสู้แม้จะอ่อนวัยกว่า เพราะนั่นหมายถึงความเจริญของโลก แต่ถึงจะไม่ใช่คู่แข่งที่อ่อนวัย เขาก็ยังยิ้มให้ได้เช่นกัน “ทุกวันนี้พอแทงลูกไม่ลงเหรอ ผมยิ้มให้กับลูกที่ผมแทงไม่ลงด้วย แล้วก็ดีใจชื่นชมคู่ต่อสู้เป็นด้วย เล่นแบบนี้เราแฮปปี้กว่า”
เมื่องานล้มเหลว ควรหรือไม่ที่จะปล่อยให้ใจล้มเหลวด้วย งานล้มแต่อย่าให้ใจล้ม ระหว่างคนที่หัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่องานล้มเหลว กับคนที่ยิ้มได้เมื่อพบกับความล้มเหลว คนไหนที่เป็นสุขและฉลาดกว่ากัน สาเหตุลึก ๆ ที่ทำให้เรายอมรับความล้มเหลวไม่ได้ก็เพราะมันกระทบอัตตาข้างใน อัตตาหรือตัวตนนั้นต้องการประกาศตนว่ากูเก่งกว่า ดีกว่า รวยกว่า สวยกว่า ฯลฯ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำเต็มที่เพียงใด เมื่อประสบกับความล้มเหลวหรือไม่สำเร็จอย่างที่หวัง ตัวที่ทุกข์จริง ๆ คืออัตตา แต่เพราะเราไปหลงเชื่ออัตตา ก็เลยไปเอาความทุกข์ของอัตตามาเป็นของเรา ผลก็คือกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และทะเลาะกับผู้คน รวมทั้งเห็นเพื่อนร่วมงานที่เก่งกว่าเป็นคู่แข่งที่จะเก่งเกินหน้าเกินตาเราไม่ได้
การยินดีและยิ้มให้คู่แข่งที่เก่งกว่าเราหรือชนะเราได้นั้น เป็นวิธีกำราบอัตตาไม่ให้ผยอง และปิดกั้นมิให้ความอิจฉาริษยาเข้ามาครองใจ จึงทำให้เราห่างไกลจากความทุกข์ และมีเวลาให้กับสติปัญญาได้ใคร่ครวญเพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเอง รวมทั้งพร้อมรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ อาทิ คำวิพากษ์วิจารณ์
ต๋องเป็นผู้หนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคำสรรเสริญล้นหลาม แต่ระยะหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง โดยเฉพาะจากผู้ที่ผิดหวังในตัวเขา แต่เขากลับมองเหตุการณ์เหล่านั้นในแง่ดี “บางคนโดนด่า โดนสบประมาท แล้วไปโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ผมกลับมองว่าเราต้องเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นอาจารย์เลย เราต้องผ่านเขาให้ได้ เพราะถ้าเราผ่านไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จหรอก”
ฟังดูทั้งหมดเหมือนเป็นข้อคิดสำหรับผู้แพ้เพื่ออยู่กับความพ่ายแพ้ได้อย่างไม่ทุกข์ แต่ที่จริงแล้วยังเหมาะกับผู้ชนะในวันนี้ที่จะต้องก้าวลงจากความสำเร็จในวันพรุ่งด้วย อย่าลืมว่าการได้ชัยชนะในวันนี้ไม่ยากลำบากเท่ากับการลงจากแท่นผู้ชนะในวันพรุ่ง ทุกวันนี้ตำราว่าด้วย how to สู่ความสำเร็จมีมากมายเต็มแผงหนังสือ แต่แทบไม่มีตำราว่าด้วย how to สำหรับการก้าวลงจากความสำเร็จเลย ผลก็คือโลกนี้เต็มไปด้วยคนที่พลัดตกลงมาจากจุดสูงสุดของชีวิตอย่างเจ็บปวด
อย่างไรก็ตามต๋อง ศิษย์ฉ่อยวันนี้ไม่ได้เป็นคนที่พร้อมอยู่กับความพ่ายแพ้และทิ้งชัยชนะไว้เบื้องหลัง แต่เขาได้หวนคืนสู่วงการสนุกเกอร์อีกครั้ง และกลับมาเป็นแชมป์ทั้งระดับชาติและระดับทวีป พร้อมกับเตรียมเข้าสู่วงการระดับโลก แต่ครั้งนี้เขามาด้วยลีลาการเล่นที่สุขุม ผ่อนคลายและไม่ขาดรอยยิ้ม จากคนที่ใจร้อน บัดนี้เขาใจเย็นและปล่อยวางมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เขาบอกตัวเองยามที่เข้าแข่งขันก็คือ “นี่คือแมตช์ที่สำคัญที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเล่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีผลกับเรา”
เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ต้องพร้อมคืนสู่สามัญ เมื่อประสบความสำเร็จถึงขีดสุดก็ต้องพร้อมวางมือเมื่อถึงเวลา หรือไม่ก็ต้องพร้อมยอมรับความล้มเหลวเมื่อมันมาเยือน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือขณะที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการ ก็ต้องพร้อมลืมความสำเร็จที่ผ่านมาและทำตนเสมือนคนธรรมดา ที่อยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุด จนเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า (คำพูดของต๋อง ศิษย์ฉ่อย คัดมาจากบทสัมภาษณ์เรื่อง “My Turn” โดยวิไลรัตน์ เอมเอี่ยมใน A Day Bulletin ฉบับที่ ๔๘ มิถุนายน ๒๕๕๒)

ยินดีต้อนรับ

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บครูสมภพครับ